วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Better than a Hallelujah - Instrumental with Lyrics



God loves a lullaby
In a mother's tears in the dead of night
Better than a Hallelujah sometimes.
God loves a drunkard's cry,
The soldier's plea not to let him die
Better than a Hallelujah sometimes.

We pour out our miseries
God just hears a melody
Beautiful the mess we are
The honest cries of breaking hearts
Are better than a Hallelujah

The woman holding on for life,
The dying man giving up the fight
Are better than a Hallelujah sometimes
The tears of shame for what's been done,
The silence when the words won't come
Are better than a Hallelujah sometimes.

We pour out our miseries
God just hears a melody
Beautiful the mess we are
The honest cries of breaking hearts
Are better than a Hallelujah

Better than a church bell ringing,
Better than a choir singing out,singing out.

We pour out our miseries
God just hears a melody
Beautiful the mess we are
The honest cries of breaking hearts
Are better than a Hallelujah

วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554


งานวันเยาวชนโลก ครั้งที่ 26 ณ เมืองมาดริด ประเทศเสปน ค.ศ.2011
26th World Youth Day (2011) 
“Rooted and Built Up in Jesus Christ, Firm in the Faith” (cf Col 2:7)
“จงหยั่งรากลึกลงในพระองค์ และเสริมสร้างขึ้นในพระองค์ จงมีความเชื่ออย่างมั่นคง (อ้าง คส 2.7)

              
             การชุมนุมเยาวชนโลกกำเนิดขึ้นโดยสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์นปอลที่ 2 ขณะที่ทรงปิดปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 1984 ทรงมอบไม้ขนาดไม้ขนาดใหญ่ให้แก่เยาวชน เพื่อเป็นเครื่องหมายว่า อาศัยการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระคริสตเจ้าเท่านั้น เราทุึกคนจึงได้รับการไถ่กู้ให้รอดพ้นได้ อาศัยกางเขนนี้ จาริกไปทั่วทั้งในประเทศอิตาลี เยอรมนี ฝรั่งเศส และสาธารณเช็ค และได้เวียนกลับไปยังกรุงโรมอีกครั้งในวันอาทิตย์ใบลาน ปี ค.ศ. 1985 มีเยาวชนจากทวีปต่าง ๆ จำนวนสามแสนคนมาชุมนุมร่วมกันในโอกาสปีเยาวชนสากล และวันที่ 20 ธันวาคม 1985 พระสันตะปาปา ยอห์น ปอลที่ 2 ได้ืีทรงประกาศให้วันอาทิตย์ใบลาน ของทุกปี คือวันเยาวชนโลก ดังนั้นวันอาทิตย์ใบลานปี ค.ศ. 1986 จึงนับเป็นวันเยาวชนโลกครั้งแรก แม้จะ้ิสิ้นรัชสมัยพระองค์ไปแล้ว แต่สมเด็จพระสัีนตะปาปาเบเนดิกซ์ ที่ 16 ได้ทรงสืบสานพันธกิจนี้อย่างต่อเนื่อง พระงอค์ทรงกล่าวกับเยาวชนว่า “พ่อรำลึกถึง  การชุมนุมเยาวชนโลกที่ซิดนีย์ เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2008 ด้วยความรู้สึกกตัญญูต่อพระเจ้า ช่างเป็นการพบปะกันที่น่าจดจำอย่างยิ่ง ในครั้งนั้นพระจิตเจ้าได้ ทรงฟื้นฟูชีวิตเยาวชน นับไม่ถ้วนจากทั่วโลกที่ได้มาร่วมงาน ความยินดีจากการเฉลิมฉลองและความร้อนรนฝ่ายจิตที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสองสามวันนั้น เป็นเครื่องหมาย อันเด่นชัดของการประทับอยู่ของพระจิตเจ้า และบัดนี้เรากำลังมุ่งหน้าไปสู่การชุมนุมเยาวชนโลกที่จะจัดขึ้น ณ กรุงมาดริด ในค.ศ. 2011 โดยหัวข้อของงานนำมา จากถ้อยคำของนักบุญเปาโลอัครสาวกที่ว่า “จงหยั่งรากลึกลงในพระองค์ และเสริมสร้างขึ้นในพระองค์ จงมีความเชื่ออย่างมั่นคง” (อ้าง คส2.7)
              คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตชนฆราวาส แผนกเยาวชน พร้อมที่จะสนับสนุนเยาวชนให้มีส่วนร่วมกับพระศาสนจักรระดับสากล โดยจัดให้มีผู้แทนเยาวชนไทย เข้า่้ร่วมงานวันเยาวชนโลกอย่างต่อเนื่อง ช่วยเตรียมเขาให้มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมงานครั้งนี้ในฐานะเป็น “ผู้จาริก” (Pilgrim) เพื่อจะสามารถร่วมเดินทางจาริกแห่ง ความเชื่อ (Journey of Faith) ตามจิตตารม์ืของวันเยาวชนโลก และสามารถแบ่งปันประสบการณ์ชีวิต โดยเฉพาะในด้านชีวิตฝ่ายจิต และพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้า เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เปี่ยมด้วยความเชื่อ ความศรัทธา และเป็นพลังสำคัญของพระศาสนจักรในการประกาศข่าวดีของพระคริสตเจ้าสืบไป
       การเข้าร่วมงานวันเยาวชนโลกในครั้งนี้มีจุดประสงค์ เพื่อให้เยาวชนคาทอลิกไทยจะได้มีส่วนร่วมเฉลิมฉลองวันเยาวชนโลกกับพระศาสนจักรสากล และเป็น โอกาสที่ดีที่จะได้ต้อนรับ ตื่นเฝ้าและร่วมมิสซาพร้อมกับพระสันตะปาปา เยาวชนจะได้มีโอกาสเรียนรู้จากการสัมผัสชีวิตกับพี่น้องคริสตชน และเฉลิมฉลองร่วมกับ เพื่อนเยาวชน ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ชีวิต ร่วมเดินทางจาริกแสวงบุญ ร่วมกิจศรัทธา และกิจกรรมต่าง ๆ เยาวชนจะไ้ด้มีโอกาสเรียนคำสอน   หยั่งรากลึกลงในพระองค์ และมีความเชื่ออย่างมั่นคงมากขึ้น นอกจากนั้น เยาวชนเองจะได้นำประสบการณ์ที่ได้รับมาปรับใช้ในชีวิตและแบ่งปันกับ
    เพื่อน ๆ เยาวชน ต่อไป
                                                 ขอขอบคุณ: คณะกรรมการคาทอลิกเืพื่อคริสตชนฆราวาส แผนกเยาวชน

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554


สาสน์ของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16

ในโอกาสวันเยาวชนโลก ครั้งที่ 26 (2011)


จงหยั่งรากลึกลงในพระองค์ และเสริมสร้างขึ้นในพระองค์

จงมีความเชื่ออย่างมั่นคง (คส. 2: 7)



มิตรสหายที่รัก

ความคิดของพ่อบ่อยครั้งหวนคืนไปยังวันเยาวชนโลกที่นครซิดนีย์เมื่อปี ค.ศ. 2008 ณ ที่นั้นเราได้มีประสบการณ์แห่งการเฉลิมฉลองความเชื่อที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งพระจิตเจ้าได้ทรงกระทำงานอย่างแข็งขันด้วยการสร้างสายสัมพันธ์ความเป็นหนึ่งเดียวที่ล้ำลึก ท่ามกลางเยาวชนผู้ที่มาร่วมชุมนุมกันจากทั่ว ทุกมุมโลก ในการชุมนุมครั้งนั้นเป็นเช่นครั้งก่อน ๆ ซึ่งได้ก่อผลอย่างอุดมในชีวิตเยาวชนและชีวิตของ พระศาสนจักรทั้งหมดเป็นอันมาก บัดนี้เรากำลังตั้งใจรอคอยวันเยาวชนโลกครั้งต่อไปที่จะจัดขึ้น ณ กรุงมาดริดในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2011 ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1989 หลายเดือนก่อนที่กำแพงเบอร์ลินจะถูกทำลายลงเป็นประวัติศาสตร์ กลุ่มเยาวชนผู้จาริกแสวงบุญนี้ได้แวะที่นครซันเตียโก เด กอมปอสเตลา ประเทศสเปน มาบัดนี้ ณ เวลาที่ยุโรปมีความจำเป็นยิ่งที่จะต้องค้นหารากเหง้าแห่งความเป็นคริสตชนของตนอีกครั้ง การชุมนุมของเราจะจัดขึ้นที่กรุงมาดริดโดยใช้หัวข้อการชุมนุมว่า “จงหยั่งรากลึกลงในพระองค์และเสริมสร้างขึ้นในพระองค์ จงมีความเชื่ออย่างมั่นคง(คส. 2: 7) พ่อขอสนับสนุนให้ลูกมีส่วนร่วมในงานชุมนุมครั้งนี้ ซึ่งมีความสำคัญมากทั้งสำหรับพระศาสนจักรในยุโรปและพระศาสน-จักรสากล พ่อปรารถนาให้เยาวชนคนหนุ่มสาวทุกคน ทั้งผู้ที่มีความเชื่อเดียวกันกับเราในองค์พระเยซู คริสตเจ้า รวมทั้งผู้ที่ยังลังเลสงสัย หรือแม้แต่ผู้ที่ไม่มีความเชื่อในพระองค์ จงได้มีส่วนร่วมในประสบการณ์ครั้งนี้ ซึ่งสามารถเป็นเครื่องชี้นำชีวิตครั้งสำคัญของพวกเขา นี่เป็นประสบการณ์ที่จะได้สัมผัสพระเยซูพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงเสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพและยังดำรงชีวิตอยู่เป็นประสบการณ์แห่งความรักของพระองค์ที่มีต่อเราแต่ละคน


1. ณ แหล่งบันดาลความใฝ่ฝันสูงสุด


ในประวัติศาสตร์ทุกกาลสมัยรวมทั้งยุคของเราด้วย เยาวชนคนหนุ่มสาวจำนวนมากต่างมีความปรารถนาอย่างมากที่จะมีความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ที่ประกอบด้วยความจริงและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน หลาย ๆ คนปรารถนาที่จะสร้างมิตรภาพที่แท้จริง ต้องการรู้จักความรักที่ถ่องแท้ ต้องการเริ่มชีวิตครอบครัวที่เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างยั่งยืนถาวร ต้องการที่จะประสบกับความสมหวังและความมั่นคงอย่างแท้จริงในชีวิต ทั้งหลายทั้งปวงนี้ล้วนแล้วแต่จะเป็นหลักประกันถึงอนาคตที่มีความสงบสุข เมื่อหวนกลับไปนึกถึงวัยเยาว์ของพ่อเอง พ่อทราบดีว่าความมั่นคงยั่งยืนไม่ใช่เรื่องที่อยู่ในความคิดของเยาวชนส่วนใหญ่ จริงอยู่การมีงานทำเป็นเรื่องสำคัญซึ่งทำให้เรายืนได้อย่างมั่นคง แต่ในช่วงเวลาของวัยหนุ่มสาวนั้นยังเป็นเวลาที่เราแสวงหาการดำเนินชีวิตที่คุ้มค่าที่สุด เมื่อพ่อหวนคิดถึงเวลานั้น พ่อจำได้ดีว่าเราไม่พอใจที่จะมีชีวิตเพียงแบบชนชั้นกลาง เราต้องการอะไรที่ยิ่งใหญ่อะไรที่ใหม่ เราต้องการที่จะค้นให้พบชีวิตเลยทีเดียวทั้งในความยิ่งใหญ่และความสง่างามของมัน เป็นธรรมดาที่เหตุผลส่วนหนึ่งของความคิดเช่นนั้นเป็นเพราะยุคสมัยที่เราอาศัยอยู่ในขณะนั้น ในยุคเผด็จการนาซีและสงคราม อาจกล่าวได้ว่าเราถูกทำให้ “จนมุม” โดยโครงสร้างอำนาจเผด็จการ เพราะฉะนั้นเราจึงอยากหนีออกไปสู่ที่โล่งแจ้ง เพื่อที่จะได้มีประสบการณ์กับสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์พึงอาจมีได้ พ่อคิดว่าแรงกระตุ้นที่จะดิ้นให้หลุดพ้นจากชีวิตธรรมดานั้นมีอยู่ทุกยุคทุกสมัย ส่วนหนึ่งของความเป็นหนุ่มสาวก็คือความปรารถนาสิ่งที่มากกว่าการดำเนินชีวิตแบบปกติประจำวันและการงานที่มั่นคง การโหยหาอะไรบางอย่างที่มีความยิ่งใหญ่กว่า นี่เป็นเพียงความฝันที่ว่างเปล่าแล้วจางหายไปเมื่อเรามีอายุมากขึ้นหรือไม่เด็ดขาด มนุษย์ชายหญิงถูกสร้างขึ้นเพื่อความยิ่งใหญ่เพื่อความเป็นนิรันดร์ ไม่มีอะไรอื่นเลยที่จะเพียงพอ นักบุญออกุสตินกล่าวไว้อย่างถูกต้องว่า “ดวงใจของเราจะไม่มีวันหยุดนิ่งจนกว่าจะได้พบที่พักพิงในพระองค์” การที่เราปรารถนาชีวิตที่มีความหมาย เป็นเครื่องหมายที่ชี้ให้เห็นว่าพระเจ้าทรงสร้างเรามา และเราได้รับพระฉายาลักษณ์ของพระองค์ พระเจ้าคือชีวิต และนี่คือเหตุผลที่สิ่งสร้างทั้งหลายต่างมุ่งแสวงหาชีวิต เพราะมนุษย์ถูกสร้างขึ้นตามพระฉายาลักษณ์ของพระเจ้า เราจึงแสวงหาด้วยหนทางที่พิเศษและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เราต่างแสวงหาความรัก ความชื่นชมยินดีและสันติ เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นได้ว่ามันเป็นเรื่องเหลวไหลที่จะคิดว่าเราสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างแท้จริง หากปราศจากพระเจ้า พระเจ้าเป็น บ่อเกิดของชีวิต การดำเนินชีวิตโดยปราศจากพระเจ้า จึงเท่ากับเป็นการแยกตัวเราออกจากบ่อเกิดของชีวิต ซึ่งจะมีผลที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ การขจัดความสำเร็จและความชื่นชมยินดีออกไปจากชีวิตของเรานั่นเอง “ปราศจากซึ่งพระผู้สร้างสรรพสิ่ง สรรพสัตว์ก็จะอันตรธารไปสู่ความว่างเปล่า” (สมณสาส์น Gaudium et Spes ข้อ 36 จากสังคายนาวาติกัน 2) ในบางภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแถบตะวันตก วัฒนธรรมของทุกวันนี้ดำเนินไปโดยปราศจากพระเจ้าและถือว่าความเชื่อเป็นเรื่องส่วนตัวซึ่งไม่มีความสัมพันธ์อะไรต่อชีวิตและสังคม แม้คุณค่าต่าง ๆ ที่คอยกำกับสังคมจะมาจากพระวรสารก็ตาม เช่นเรื่องศักดิ์ศรีของบุคคล ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เรื่องการงานหรือเรื่องครอบครัว เราจะเห็นว่ามีปรากฏการณ์ “การบดบังรัศมีพระเจ้า” เกิดขึ้น หรือการหลงลืมพระเจ้า ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เป็นการปฏิเสธคริสตศาสนาอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็เป็นการปฏิเสธไม่ยอมรับขุมทรัพย์แห่งความเชื่อ ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียความเป็นอัตลักษณ์อันล้ำลึกของเรา


มิตรสหายที่รัก ด้วยเหตุนี้ พ่อขอให้พวกลูกเข้มแข็งในความเชื่อในพระเจ้า พระบิดาแห่งพระเยซูคริสตเจ้าของเรา พวกลูกเป็นอนาคตของสังคมและของพระศาสนจักร ดังที่นักบุญเปาโลอัครสาวกได้เขียนไว้ในจดหมายถึงชาวโคโลสีว่า เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีรากเหง้าซึ่งเป็นรากฐานที่มั่นคง เรื่องนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับทุกวันนี้ คนเป็นจำนวนมากไม่มีจุดอ้างอิงที่เป็นฐานมั่นคงในการเสริมสร้างชีวิต ดังนั้นพวกเขาจึงลงเอยด้วยความไม่แน่นอน ไม่มั่นคงในชีวิต มีความคิดในเชิงคล้อยตามแบบลัทธิอนุโลมนิยม

เพิ่มทวีมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือว่าทุกอย่างดีเท่าเทียมกันหมด ถือว่าความจริงและจุดอ้างอิงสูงสุดนั้นไม่มีตัวตน แต่ว่าความคิดเช่นนี้มิได้นำมนุษย์ไปสู่การมีเสรีภาพที่แท้จริง กลับจะนำไปสู่ความไม่มั่นคง ความสับสน และการเดินตามกระแสสังคมไปอย่างมืดบอด ในฐานะที่เป็นเยาวชนคนหนุ่มสาว พวกลูกมีสิทธิ์ที่จะได้รับจุดอ้างอิงที่เป็นจริงและมั่นคงจากชนรุ่นก่อน เพื่อที่จะช่วยลูกในการตัดสินใจและสร้างชีวิตบนฐานที่มั่นคง เหมือนกันกับต้นไม้ต้นเล็ก ๆ ที่ต้องการปัจจัยในการช่วยเหลือจนกระทั่งมันสามารถหยั่งรากลึกลงไป กลายเป็นต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรง และสามารถที่จะเกิดดอกออกผลได้


2. หยั่งรากลึกลงและเสริมสร้างขึ้นในพระเยซูคริสตเจ้า


เพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของความเชื่อในชีวิตคริสตชน พ่อขอไตร่ตรองพร้อมกับพวกลูกถึงถ้อยคำที่ท่านนักบุญเปาโลใช้ในประโยค “จงหยั่งรากลึกลงในพระองค์และเสริมสร้างขึ้นในพระองค์ จงมีความเชื่ออย่างมั่นคง(คส. 2: 7) เราอาจจำแนกภาพได้ 3 ภาพด้วยกัน ภาพที่ 1 คือ“หยั่งรากลึกลง” ทำให้เราคิดถึงต้นไม้และรากที่หล่อเลี้ยงลำต้น ภาพที่ 2 คือ “เสริมสร้างขึ้น” อ้างอิงถึงการสร้างบ้าน ภาพที่ 3 คือ “อย่างมั่นคง” แสดงให้เห็นถึงการเจริญเติบโตทางกายภาพหรือความเข้มแข็งในด้านคุณธรรม ภาพทั้งสามนี้มีความชัดเจนและจับใจมาก ก่อนที่จะออกความคิดเห็นเกี่ยวกับสามคำนี้ พ่อใคร่ชี้ให้เห็นว่า ในเชิงไวยากรณ์สามคำนี้ตามต้นฉบับเดิมเขียนไว้เป็นประโยคกรรมวาจก

มีความหมายว่าพระคริสตเจ้าเองทรงเป็นผู้ริเริ่มทำการปลูก ทำให้เจริญเติบโต และทำให้คริสตชนมีความเข้มแข็งมั่นคง


ภาพแรกคือภาพต้นไม้ที่เจริญเติบโตอย่างมั่นคงอาศัยรากของมันที่ทำหน้าที่ค้ำจุน และดูดซึมอาหารมาบำรุงหล่อเลี้ยงลำต้น หากต้นไม้ไม่มีรากเมื่อถูกลมพัดมาต้นไม้ก็จะล้มและตายไปในที่สุด แล้วรากของเรานั้น คืออะไร โดยธรรมชาติก็คือพ่อแม่ ญาติพี่น้อง และขนบธรรมเนียมประเพณีของบ้านเมืองของเรา ซึ่งล้วนแต่เป็นองค์ประกอบสำคัญแห่งอัตลักษณ์ส่วนตัวของเรา แต่ในพระคัมภีร์เผยให้เห็นองค์ประกอบมากไปกว่านั้นอีก ประกาศกเยเรมีห์บันทึกไว้ว่า “เป็นบุญลาภแก่ผู้ที่วางใจในพระเจ้า และความมั่นใจของเขาคือพระเจ้า พวกเขาจะเป็นดุจต้นไม้ที่ปลูกไว้ริมน้ำ หยั่งรากลึกและหล่อเลี้ยงด้วยสายน้ำ มันจะไม่เกรงกลัวเมื่อความร้อนแผ่มา ใบของมันจะเขียวชอุ่ม ในปีที่เกิดแล้งมันก็ไม่กังวลและไม่เลิกที่จะบังเกิดผล” (ยรม. 17: 7-8) สำหรับตัวท่านประกาศกแล้วการหยั่งรากลึกหมายถึงการวางใจในพระเจ้า เราได้รับชีวิตมาจากพระองค์ ปราศจากพระองค์แล้วเราไม่อาจที่จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างแท้จริง “พระเจ้าประทานชีวิตนิรันดรแก่เรา และชีวิตนี้อยู่ในพระบุตรของพระองค์” (1 ยน. 5: 11) พระเยซูพระองค์เองทรงบอกเราว่าพระองค์คือชีวิตของเรา (เทียบ ยน. 14: 6) ผลที่ตามมาก็คือ ความเชื่อของคริสตชนไม่ใช่เป็นเรื่องของการเชื่อว่าสิ่งต่างๆเป็นความจริง แต่ที่สำคัญและเหนือสิ่งใดก็คือการมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับพระเยซูคริสตเจ้า มันเป็นการสัมผัสกับพระบุตรของพระเจ้าที่ให้พลังใหม่สำหรับการมีชีวิตและความเป็นอยู่ทั้งหมดของเรา เมื่อเรามีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับพระองค์ พระคริสต-เจ้าก็จะทรงเผยอัตลักษณ์ที่แท้จริงของเรา และในมิตรภาพที่เรามีกับพระองค์นั้นชีวิตของเราก็จะค่อยๆเจริญเติบโตสู่ความสำเร็จบริบูรณ์ วัยหนุ่มสาวเป็นช่วงที่เราแต่ละคนมักจะคิดสงสัยไปว่า ชีวิตของฉันมีความหมายอะไร ฉันจะตั้งเป้าหมายและทิศทางของชีวิตอย่างไร นี่เป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญยิ่ง และมันก็อาจรบกวนใจเราบ้างในช่วงขณะหนึ่ง เราเริ่มกังวลว่าเราควรจะทำงานอะไรดี จะมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นแบบไหน ควรจะมีมิตรแบบใด... ตรงนี้พ่อก็หวนคิดถึงวัยหนุ่มของพ่อเองอีกครั้ง พ่อค่อนข้างที่จะตระหนักดีตั้งแต่ยังเป็นเด็กว่าพระเจ้าต้องการให้ข้าพเจ้าเป็นพระสงฆ์ ต่อมาภายหลังเมื่อสงครามสิ้นสุดลงแล้ว เมื่อพ่ออยู่ในสามเณราลัย และเข้ามหาวิทยาลัยเพื่อจะไปสู่เส้นทางที่จะไปให้ถึงเป้าหมายนั้น พ่อต้องทบทวนเพื่อให้เกิดความมั่นใจอีกครั้งหนึ่ง พ่อต้องถามตัวเองว่า นี่เป็นเส้นทางชีวิตที่พ่อถูกกำหนดให้เดินหรือ นี่เป็นน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้าสำหรับตัวพ่อจริงหรือ พ่อจะสามารถสัตย์ซื่อและรับใช้พระองค์ไปจนตลอดชีวิตหรือ การตัดสินใจเช่นนี้เรียกร้องให้เกิดการต่อสู้ขึ้นภายใน มันจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ และแล้วพ่อก็เกิดความมั่นใจว่านี่เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ใช่เลย.. พระเจ้าต้องการพ่อแล้วพระองค์จะทรงประทานพละกำลังให้แก่พ่อ หากพ่อคอยสดับฟังพระองค์และเดินไปกับพระองค์ พ่อก็จะเป็นตัวตนที่แท้จริงของพ่อเอง สิ่งที่สำคัญไม่ได้อยู่ที่การทำให้ความปรารถนาของพ่อสำเร็จไป แต่อยู่ที่การทำตามน้ำพระทัยของพระองค์ อาศัยวิธีนี้ชีวิตจึงจะเป็นชีวิตที่แท้จริง


เฉกเช่นรากทำให้ต้นไม้ยึดมั่นอยู่กับดิน เสาเข็มของบ้านก็ทำให้บ้านนั้นมีความมั่นคงถาวรเช่นเดียวกัน โดยอาศัยความเชื่อเราถูกเสริมสร้างขึ้นในองค์พระเยซูคริสตเจ้า (เทียบ คส. 2: 7) ดุจบ้านที่สร้างขึ้นบนรากฐานที่มีเสาเข็ม ในประวัติศาสตร์ศักดิ์สิทธิ์มีตัวอย่างของนักบุญมากมายที่สร้างชีวิตตนในพระวาจาของพระเจ้า คนแรกได้แก่อับราฮัมผู้เป็นบิดาของเราในความเชื่อ ท่านได้นบนอบต่อพระเจ้าเมื่อถูกขอร้องให้ทิ้งบ้านเกิดและให้ออกเดินทางไปยังดินแดนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน “อับราฮัมเชื่อพระเจ้าและท่านได้รับสมญานามว่าเป็นผู้ชอบธรรม เขาจึงได้รับฉายาว่าเป็นมิตรสหายของพระเจ้า” (ยก 2:23) การเสริมสร้างขึ้นในพระเยซูคริสตเจ้าหมายความว่า เขาผู้นั้นตอบสนองต่อการเรียกของพระเจ้า วางใจในพระองค์ และนำเอาพระวาจาของพระองค์มาปฏิบัติ พระเยซูเจ้าเองทรงตำหนิศิษย์ของพระองค์ว่า “ทำไมท่านจึงเรียกเราว่า ‘ข้าแต่พระเจ้า ข้าแต่พระเจ้า’ และไม่ปฏิบัติตามที่เราบอกเล่า” (ลก. 6: 46) พระองค์ทรงสอนต่อไปโดยใช้ภาพของการสร้างบ้าน “ทุกคนที่มาหาเราย่อมฟังคำของเราและนำไปปฏิบัติ เราจะชี้ให้ท่านทั้งหลายเห็นว่า เขาเปรียบเสมือนผู้ใด เขาเปรียบเสมือนคนที่สร้างบ้าน เขาขุดหลุม ขุดลงไปลึกและวางรากฐานไว้บนหิน เมื่อเกิดน้ำท่วมน้ำในแม่น้ำไหลมาปะทะบ้านหลังนั้น แต่ทำให้บ้านนั้นสั่นคลอนไม่ได้ เพราะบ้านนั้นสร้างไว้อย่างดี” (ลก 6: 47-48)


มิตรสหายที่รัก จงสร้างบ้านของลูกบนหินเหมือนผู้ที่ “ขุดหลุมลึก” พยายามที่จะเจริญรอยตามพระวาจาของพระคริสตเจ้าทุกวัน จงสดับฟังพระองค์ในฐานะที่เป็นมิตรแท้จริง ผู้ที่ลูกสามารถที่จะร่วมเดินทางชีวิตไปด้วยได้ เมื่อมีพระองค์อยู่เคียงข้างลูกจะมีความกล้าและมีกำลังใจที่จะเผชิญหน้ากับความยากลำบากและปัญหาต่างๆ ลูกจะเอาชนะได้แม้กระทั่งความผิดหวังและความพ่ายแพ้ต่างๆ ในบางครั้งลูกอาจจะได้รับข้อเสนอทางเลือกอื่นที่ทำได้ง่ายๆอยู่เสมอ แต่ลูกเองก็ทราบดีว่า สิ่งพวกนั้นในที่สุดแล้วคือสิ่งหลอกลวงไม่สามารถที่จะนำความสงบและความชื่นชมยินดีมาสู่ลูกได้ มีเพียงพระวาจาของพระเจ้าเท่านั้นที่สามารถแสดงหนทางที่ถูกต้องถ่องแท้ให้ลูกได้ และมีแต่ความเชื่อที่ลูกได้รับเท่านั้นที่จะเป็นแสงสว่างคอยชี้นำทางของลูก แต่จงชื่นชมและกตัญญูสำหรับของขวัญฝ่ายจิตที่ลูกได้รับมาจากครอบครัวของลูก จงพยายามที่จะตอบสนองด้วยความรับผิดชอบต่อกระแสเรียกของพระเจ้า และจงเพิ่มพูนความเชื่อของลูก อย่าไปหลงเชื่อคนที่บอกลูกว่า ลูกไม่จำเป็นต้องให้ใครมาช่วยเสริมสร้างชีวิตของลูก จงแสวงหาความช่วยเหลือในความเชื่อจากคนที่มีความเชื่อในพระศาสนจักรและเป็นคนที่ลูกรัก แล้วขอบพระคุณพระเจ้าที่ลูกได้รับความเชื่อนี้มาและได้ทำให้ความเชื่อดังกล่าวเป็นความเชื่อของตนเอง



3. มั่นคงในความเชื่อ


ลูก “จงหยั่งรากลึกลงในองค์พระเยซูคริสตเจ้าและเสริมสร้างขึ้นในพระองค์ จงมีความเชื่ออย่างมั่นคง” (เทียบ คส. 2: 7) จดหมายที่อ้างถึงข้อความตอนนี้เขียนโดยนักบุญเปาโลเพื่อตอบสนองต่อความต้องการพิเศษของบรรดาคริสตชนที่อยู่ในเมืองโคโลสี ชุมชนดังกล่าวโดนคุกคามจากอิทธิพลของวัฒนธรรมบางอย่างที่กำลังทำให้บรรดาสัตบุรุษเหินห่างไปจากพระวรสาร เยาวชนที่รัก ในบริบทวัฒนธรรมของเราเองในปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน มันไม่ต่างอะไรกันกับสมัยชาวโคโลสีโบราณนัก เพราะกำลังมีกระแสรุนแรงของโลกียวิสัยที่มุ่งแต่จะผลักให้พระเจ้าออกไปจากชีวิตของประชาชนและของสังคมโดยการเสนอและพยายามสร้าง “สวรรค์” ที่ปราศจากพระองค์ แต่ประสบการณ์สอนเราว่าโลกที่ไม่มีพระเจ้านั้นจะกลายเป็น “นรก” ที่เต็มไปด้วยการเห็นแก่ตัว ครอบครัวที่แตกแยก ความเกลียดชังระหว่างปัจเจกชนและนานาชาติ ขาดความรัก ขาดความชื่นชมยินดี และขาดความหวังไปอย่างมาก ในทางตรงกันข้าม หากปัญเจกชนและนานาชาติยอมรับว่าพระเจ้าประทับอยู่จริง ยอมนมัสการพระองค์ในความจริง และสดับฟังพระวาจาของพระองค์ เมื่อนั้นวัฒนธรรมแห่งความรักก็จะถูกสร้างขึ้น เป็นวัฒนธรรมที่ทุกคนให้ความเคารพในศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน มนุษย์มีความสัมพันธ์กันมากขึ้น อันจะก่อให้เกิดคุณประโยชน์มากมาย กระนั้นก็ดีคริสตชนบางคนยอมถูกล่อลวงโดยโลกียวิสัยนิยม หรือถูกดึงดูดโดยกระแสลัทธิใหม่ๆที่ดึงพวกเขาออกไปจากความเชื่อในองค์พระเยซูคริสตเจ้า ในขณะที่บางคนไม่ยอมแพ้กับถูกการล่อลวงดังกล่าว แต่ทว่ากลับเฉยเมยต่อความเชื่อของตนเอง ซึ่งท้ายที่สุดจะก่อให้เกิดผลร้ายต่อชีวิตฝ่ายจริยธรรมของพวกเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


อัครสาวกเปาโลได้กล่าวถึง อำนาจแห่งการสิ้นพระชนม์และการเสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพของพระคริสตเจ้ากับบรรดาคริสตชนเหล่านั้น ที่ได้รับอิทธพลจากความคิดที่ผิดแปลกออกไปจากพระวรสาร รหัสธรรมนี้คือรากฐานแห่งชีวิตของเราและเป็นศูนย์กลางของความเชื่อคริสตชน ปรัชญาต่างๆที่ไม่ยอมรับความจริงนี้และถือว่ามันเป็นเรื่อง “โง่เขลา” (1 คร. 1: 23) เผยให้เห็นถึงความจำกัดของพวกเขาที่เกี่ยวกับคำถามอันยิ่งใหญ่ที่อยู่ในดวงใจมนุษย์ ในฐานะผู้สืบตำแหน่งจากนักบุญเปโตรอัครสาวก พ่อใคร่ที่จะยืนยันความเชื่อให้แก่พวกลูก (เทียบ ลก. 22: 32) เรามีความเชื่อมั่นว่า พระเยซูคริสตเจ้าทรงมอบพระองค์เองบนไม้กางเขนเพื่อที่จะทรงประทานความรักของพระองค์ให้แก่เรา ในพระมหาทรมานของพระองค์ พระองค์ทรงแบกรับความทุกข์ของเรา ทรงยอมแบกรับความบาปของเรา รับการอภัยสำหรับเรา และทรงทำให้เรากลับคืนดีกับพระบิดาเจ้า และทรงเปิดประตูสวรรค์ให้เราได้รับชีวิตนิรันดร ดังนั้นเราจึงได้รับความเป็นไทจากสิ่งที่จองจำชีวิตของเรา ซึ่งได้แก่การเป็นทาสของบาป เราสามารถที่จะรักทุกคนได้แม้แต่ศัตรู และเราสามารถที่จะมีส่วนร่วมในความรักนี้กับผู้ที่ยากไร้ที่สุดในบรรดาพี่น้องชายหญิงของเรารวมถึงทุกคนที่ตกอยู่ในความยากลำบาก


มิตรสหายที่รัก บ่อยครั้งไม้กางเขนทำให้เรากลัว เพราะมันดูเหมือนว่าเป็นการปฏิเสธชีวิต แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับตรงกันข้ามไม้กางเขนเป็นการ “ตอบรับ” ของพระเจ้าที่มีต่อมนุษยชาติ เป็นการแสดงออกซึ่งความรักสูงสุดของพระองค์และเป็นต้นกำเนิดของชีวิตนิรันดรที่หลั่งไหลออกมา อันที่จริงแล้วมันเป็นสิ่งที่เกิดจากดวงหทัยของพระเยซูเจ้าเองซึ่งถูกแทงบนไม้กางเขน ที่ชีวิตของพระเจ้าหลั่งไหลออกมาจนเข้าถึงทุกคนที่ทอดสายตาขึ้นสู่พระผู้ที่ถูกตรึงบนไม้กางเขน พ่อจึงได้แต่ขอร้องพวกลูกให้สวมกอดไม้กางเขนของพระเยซูเจ้าไว้ ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งความรักของพระเจ้า ให้เป็นต้นกำเนิดแห่งชีวิตใหม่ นอกเหนือไปจากพระเยซูคริสตเจ้าผู้ทรงเสด็จฟื้นคืนชีพจากความตายแล้ว ไม่มีหนทางแห่งความรอดอย่างอื่นเลย มีแต่พระองค์เท่านั้นที่สามารถทำให้โลกนี้เป็นอิสระจากความชั่วและนำพระอาณาจักรแห่งความยุติธรรม สันติ และความรักที่เราทุกคนแสวงหานั้นเกิดเป็นจริงขึ้นมาได้


4. เชื่อในองค์พระเยซูคริสตเจ้าโดยที่ไม่เคยเห็นพระองค์


ในพระวรสารเราจะพบเรื่องราวประสบการณ์ความเชื่อของอัครสาวกโธมัสตอนที่เขายอมรับรหัสธรรมแห่งไม้กางเขนและการฟื้นคืนชีพของพระคริสตเจ้า นักบุญโธมัสเป็นหนึ่งในอัครสาวกจำนวน 12 คน เขาเป็นคนที่คอยติดตามพระเยซูเจ้า และได้เห็นซึ่งการเยียวยารักษาและการอัศจรรย์ต่าง ๆ ของพระองค์ด้วยตาของท่านเอง ท่านฟังพระวาจาของพระองค์และตกใจกลัวเมื่อพระเยซูเจ้าทรงสิ้นพระชนม์ วันปัสกาตอนค่ำเมื่อพระเยซูเจ้าทรงปรากฏพระองค์มาหาบรรดาอัครสาวก ในขณะนั้นนักบุญโธมัสไม่อยู่ เมื่อท่านได้รับการบอกกล่าวว่าพระเยซูเจ้ายังทรงมีชีวิตอยู่และได้ปรากฏมาให้พวกเขาเห็น นักบุญโธมัสกล่าวว่า “ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้เห็นรอยตะปูที่พระหัตถ์ และไม่ได้เอานิ้วแยงเข้าไปที่รอยตะปู และไม่ได้เอามือคลำที่ด้านข้างพระวรกายของพระองค์ ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อเป็นอันขาด” (ยน. 20: 25)


เช่นเดียวกันเราก็ต้องการจะเห็นพระเยซูเจ้า ต้องการจะพูดกับพระองค์ และต้องการจะรู้สึกว่าพระองค์ทรงประทับอยู่กับเราอย่างแท้จริง สำหรับหลายคนในทุกวันนี้เป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะเข้าหาพระเยซูเจ้า ในแวดวงต่าง ๆ ภาพพจน์พระเยซูเจ้านั้นมีหลายรูปแบบ โดยอ้างว่าเป็นวิทยาศาสตร์ ได้ทำให้ความยิ่งใหญ่หรือความเป็นเอกลักษณ์จำเพาะเจาะจงของพระองค์เสียหายไป ดังนั้น ด้วยเหตุนี้หลังจากที่ได้ศึกษาไตร่ตรองเป็นเวลาหลายปี จึงเป็นเหตุทำให้พ่อคิดที่จะแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวของพ่อกับพระเยซูเจ้าด้วยการเขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง มันเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้อื่นได้เห็น ได้ยินและได้สัมผัสพระเยซู ซึ่งในพระองค์นั้น พระเจ้าทรงเสด็จมาหาเรา เพื่อที่จะให้พระองค์ได้เป็นที่รู้จักแก่เรา ตอนที่พระเยซูทรงประจักษ์มาหาบรรดาอัครสาวกอีกครั้งหนึ่งประมาณหนึ่งสัปดาห์หลังจากครั้งแรก พระองค์ทรงตรัสกับนักบุญโธมัสว่า “จงเอานิ้วมาที่นี่และดูมือของเราเถิด จงเอามือมาที่นี่ คลำที่สีข้างของเรา อย่าสงสัยอีกต่อไป แต่จงเชื่อเถิด” (ยน. 20: 27) พวกลูกเองก็เช่นเดียวกันสามารถที่จะสัมผัสกับพระเยซูได้ หรืออาจพูดด้วยก็ได้ว่า สามารถที่จะเอามือของเราไปสัมผัสกับเครื่องหมายแห่งพระมหาทรมานของพระองค์ ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งความรักของพระองค์ ในศีลศักดิ์สิทธิ์พระองค์ทรงอยู่ใกล้ชิดกับเราเป็นพิเศษและทรงมอบพระองค์เองแก่เรา เยาวชนที่รัก จงเรียนรู้ที่จะ “เห็น” และที่จะ “พบ” พระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท ณ ที่ซึ่งพระองค์ทรงประทับอยู่อย่างใกล้ชิดกับเรา และยังเป็นอาหารสำหรับการเดินทางของเรา ในศีลอภัยบาปพระองค์ทรงเผยให้เราเห็นถึงพระเมตตาของพระองค์ พระองค์ทรงให้อภัยเราเสมอ จงทำความรู้จักและรับใช้พระเยซูเจ้าในคนยากจน คนป่วย และในบรรดาพี่น้องชายหญิงที่อยู่ในความยากลำบากและต้องการความช่วยเหลือจากเรา


จงเข้าสู่การสนทนาเป็นการส่วนตัวกับพระเยซูคริสตเจ้าและกระทำไปด้วยความเชื่อ พยายามทำความรู้จักพระองค์ให้มากขึ้นด้วยการอ่านพระวรสารและคำสอนของพระศาสนจักร จงสนทนากับพระองค์ในการสวดภาวนา แล้วจงวางใจในพระองค์ พระองค์จะไม่มีวันทรยศความไว้วางใจของลูกอย่างเด็ดขาด “ความเชื่อเหนือสิ่งใดเป็นการยึดมั่นส่วนตัวของมนุษย์ต่อพระเจ้า ในขณะเดียวกันและที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้ก็คือ เป็นการยอมรับด้วยความสมัครใจในความจริง ทุกอย่างที่พระเจ้าทรงไขแสดง” (คำสอนของพระศาสนจักร ข้อ 150) ด้วยการทำเช่นนี้พวกลูกจะบรรลุถึงการเป็นผู้ที่มีวุฒิภาวะและมีความเชื่อที่เข้มแข็ง เป็นความเชื่อที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนความรู้สึกทางศาสนา หรือบนคำสอนแบบเลือนรางที่เรียนมาตั้งแต่สมัยเด็ก ลูกจะได้รู้จักกับพระเจ้า จะดำเนินชีวิตที่เป็นหนึ่งเดียวกันกับพระองค์อย่างแท้จริง เฉกเช่นนักบุญโธมัสอัครสาวก ผู้ซึ่งแสดงความเชื่อมั่นของตนในพระเยซูด้วยการกล่าวว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าและพระเจ้าของข้าพเจ้า”


5. จงดำรงอยู่ในความเชื่อของพระศาสนจักรเพื่อที่จะเป็นประจักษ์พยาน


พระเยซูทรงตรัสกับนักบุญโธมัสว่า “ท่านเชื่อเพราะได้เห็นเรา ผู้ที่เชื่อแม้ไม่เห็นก็เป็นสุข” (ยน. 20: 29) พระองค์กำลังคิดถึงหนทางที่พระศาสนจักรจะต้องดำเนินไป คือต้องมีฐานอยู่ในความเชื่อแห่งการเป็นประจักษ์พยานที่เห็นเองมากับตา ซึ่งหมายถึงบรรดาอัครสาวก ดังนั้นเราจึงทราบว่าความเชื่อส่วนตัวของเราในองค์พระเยซูคริสต์ที่เกิดขึ้น โดยอาศัยการสนทนากับพระองค์นั้นถูกเชื่อมติดไว้กับความเชื่อของพระศาสนจักร เรามิได้มีความเชื่อในฐานะปัจเจกชน แต่โดยอาศัยศีลล้างบาปเราเป็นสมาชิกของครอบครัวใหญ่นี้ และนั่นคือความเชื่อของพระศาสนจักรที่เสริมพลังให้กับความเชื่อส่วนตัวของเรา บทแสดงความเชื่อที่เราสวดในมิสซาวันอาทิตย์ช่วยเราให้หลุดพ้นจากอันตรายไม่ให้เชื่อในพระเจ้าอื่นนอกจากพระเจ้าที่ได้รับการเผยโดยพระคริสตเจ้า “ผู้มีความเชื่อแต่ละคนจึงเป็นข้อต่อในสายโซ่อันยิ่งใหญ่ของผู้ที่มีความเชื่อทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่อาจมีความเชื่อโดยที่ไม่ได้รับการอุ้มชูจากความเชื่อของผู้อื่น และโดยอาศัยความเชื่อของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็ช่วยสนับสนุนผู้อื่นในความเชื่อเดียวกันด้วย” (คำสอนของพระศาสนจักร ข้อ 166) ขอให้เราได้โมทนาคุณพระเจ้าเสมอสำหรับพระพรแห่งพระศาสนจักร เหตุว่าพระศาสนจักรช่วยเราให้เดินก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคงในความเชื่อซึ่งประทานชีวิตที่แท้จริงให้กับเรา (เทียบ ยน. 20: 31)


ในประวัติศาสตร์พระศาสนจักรบรรดานักบุญและมรณสักขีต่างได้รับพละกำลังจากไม้กางเขนอันรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้าเสมอ ในการเป็นผู้ที่สัตย์ซื่อต่อพระเจ้าแม้จะถึงขั้นที่ต้องอุทิศชีวิตของตนเอง พวกเขาได้พบกับพลังในความเชื่อที่จะเอาชนะความอ่อนแอต่าง ๆ ของตน และเอาชนะกับอุปสรรค ทุกชนิด นักบุญยอห์นกล่าวไว้ว่า “ใครเล่าชนะโลกได้ถ้ามิใช่ผู้ที่เชื่อว่าพระเยซูเจ้าเป็นพระบุตรของ พระเจ้า” (1 ยน. 5: 5) ชัยชนะที่เกิดจากความเชื่อนั้นคือความรัก เคยมีและยังคงมีคริสตชนจำนวนมากที่ดำเนินชีวิตเป็นประจักษ์พยานแห่งอำนาจของความเชื่อที่แสดงออกมา โดยทางเมตตากิจ พวกเขามีทั้งผู้สร้างสันติ ผู้ส่งเสริมสนับสนุนความยุติธรรม และคนที่พยายามทำโลกให้น่าอยู่กว่าเดิม ทำโลกให้เป็นโลกตามแผนการของพระเจ้า อาศัยภูมิปัญญาและความเป็นมืออาชีพพวกเขาปวารณาตนเองในหลาย ๆ แวดวงชีวิตของสังคมที่จะสร้างคุณประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับมนุษย์ทุกคน ความรักความเมตตาที่เกิดจากความเชื่อทำให้พวกเขากลายเป็นประจักษ์พยานที่มองเห็นได้ด้วยตาโดยทั้งการกระทำและคำพูดของพวกเขา พระคริสตเจ้ามิได้เป็นขุมทรัพย์ที่มีไว้เพื่อพวกเราเท่านั้น พระองค์เป็นสมบัติล้ำค่าที่สุดที่เรามี เป็นสมบัติที่มีไว้เพื่อแบ่งปันกับผู้อื่น ในยุคโลกาภิวัตน์ของเรา จงเป็นพยานแห่งความหวังแบบคริสตชนให้ไปถึงทั่วโลก มีคนจำนวนเท่าใดที่กำลังรอคอยความหวังนี้ เมื่อยืนอยู่ต่อหน้าหลุมศพของลาซารัสผู้เป็นสหาย ผู้ที่ได้เสียชีวิตมาแล้วสี่วัน ในขณะที่พระองค์กำลังจะเรียกผู้ตายให้กลับฟื้นมีชีวิตขึ้นมาใหม่นั้น พระเยซูทรงตรัสกับมาร์ธาน้องสาวของลาซารัสว่า “ถ้าท่านมีความเชื่อ ท่านจะเห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า” (ยน. 11: 40) ในทำนองเดียวกัน หากลูกมีความเชื่อ และหากลูกสามารถเจริญชีวิตในความเชื่อและเป็นประจักษ์พยานในชีวิตประจำวัน ลูกจะกลายเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือเยาวชนอื่นๆที่เหมือนลูก ให้ได้พบกับความหมายและความชื่นชมยินดีแห่งชีวิต ที่เกิดขึ้นจากการที่ได้สัมผัสกับพระคริสตเจ้า


6. สู่วันเยาวชนโลกที่มาดริด


มิตรสหายที่รัก ขอเชิญชวนพวกลูกอีกครั้งหนึ่งให้ไปร่วมวันชุมนุมเยาวชนโลกที่มาดริด พ่อจะรอคอยพวกลูกแต่ละคนด้วยความยินดี พระเยซูคริสตเจ้าใคร่ที่จะให้พวกลูกมีความมั่นคงในความเชื่อโดยอาศัยพระศาสนจักร การตัดสินใจที่จะเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้าและติดตามพระองค์ไปไม่ใช่เรื่องง่าย จะมีอุปสรรคต่างๆ เช่นความล้มเหลวส่วนตัวของเรา หรือจากอีกหลายๆเสียงที่ชี้ทางง่ายๆสะดวกสบายให้เรา จงอย่าได้หมดกำลังใจ ตรงกันข้าม ขอให้แสวงหาความช่วยเหลือจากชุมชนคริสตชน และความช่วยเหลือของพระศาสนจักร ตลอดปีนี้ขอให้เตรียมตัวสำหรับการไปชุมนุมกันที่มาดริดพร้อมกับพระสังฆราช พระสงฆ์ และผู้นำเยาวชนในสังฆมณฑล ชุมชนวัด สมาคมและกลุ่มต่าง ๆ คุณภาพของการชุมนุมของเราจะขึ้นอยู่กับการเตรียมจิตใจของเรา การสวดภาวนา การฟังพระวาจาร่วมกัน อีกทั้งการให้ความช่วยเหลือกันและกันเป็นอันดับแรก


เยาวชนคนหนุ่มสาวที่รัก พระศาสนจักรขึ้นอยู่กับพวกลูก พระศาสนจักรต้องการความเชื่อที่มีชีวิตชีวา ความรักเมตตาที่สร้างสรรค์ และพลังแห่งความหวังของพวกลูก การมีส่วนร่วมของลูกช่วยฟื้นฟู สร้างความสดชื่นกระฉับกระเฉง และเพิ่มพลังให้กับพระศาสนจักร ด้วยเหตุนี้วันเยาวชนโลกจึงเป็นพระพร ไม่เพียงแต่สำหรับตัวลูกเองเท่านั้น แต่สำหรับประชากรทั้งปวงของพระเจ้าด้วย พระศาสน-จักรในประเทศสเปนกำลังขะมักขเม้นเตรียมการต้อนรับพวกลูก เพื่อที่จะแบ่งปันประสบการณ์อันน่าชื่นชมแห่งความเชื่อกับพวกลูก พ่อขอขอบคุณสังฆมณฑล วัด สักการสถาน คณะนักบวช สมาพันธ์ของพระศาสนจักร และกลุ่มต่างๆ รวมถึงทุกคนที่กำลังทำงานอย่างหนักในการเตรียมงานครั้งนี้ พระเจ้าจะไม่มีวันลืมที่จะอวยพรพวกเขา ขอให้พระแม่มารีพรหมจารีย์อยู่เคียงข้างพวกลูกในการเตรียมงาน ในสาสน์ของเทวทูตพระแม่ทรงรับพระวาจาของพระเจ้าด้วยความเชื่อ เป็นเพราะความเชื่อนั่นเองที่พระแม่ทรงยินยอมตามสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำในตัวพระแม่ ด้วยการกล่าวว่า “ขอให้เป็นไปตามน้ำพระทัยของพระองค์” พระแม่ได้รับพระพรแห่งความรักที่ยิ่งใหญ่ซึ่งทำให้พระแม่อุทิศตนเองทั้งครบแด่พระเจ้า ขอพระแม่ช่วยวิงวอนสำหรับลูกแต่ละคน เพื่อว่าในวันเยาวชนโลก ลูกจะได้เติบโตขึ้นในความเชื่อและความรัก ข้าพเจ้าให้คำมั่นสัญญาว่าจะระลึกถึงพวกลูกในคำภาวนาดุจบิดาและขออวยพรมาแก่พวกลูกทุกคน



สำนักวาติกัน 6 สิงหาคม 2010 วันฉลองพระคริสตเจ้าทรงจำแลงพระกาย


สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16



แปลโดย ว. ประทีป

เรียบเรียงโดย คณะกรรมการคาทอลิก

เพื่อคริสตชนฆราวาสแผนกเยาวชน